ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งเมื่อจ่ายเงินหรือไม่ จะรู้ได้อย่างไรบ้าง?

ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งเมื่อจ่ายเงินหรือไม่ จะรู้ได้อย่างไรบ้าง?

ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งเมื่อจ่ายเงินหรือไม่ จะรู้ได้อย่างไรบ้าง?

หน้าที่ตามกฎหมายเรื่องหนึ่ง ที่ต้องระมัดระวัง คือ การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินได้ให้แก่ผู้มีเงินได้และเข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องหักภาษี หากปฏิบัติไม่ครบถ้วนถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ไม่ได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนเงินที่ขาดไป ตาม คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 91/2542 เรื่อง ความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ และการหักภาษี ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องหักภาษีหรือไม่?  โดยให้เริ่มดูจาก 3 เรื่องหลักเป็นอันดับแรก คือ ผู้จ่ายเงินได้,  ผู้มีเงินได้ (ผู้รับเงิน)  และ  ประเภทเงินได้ที่จ่าย  หากเข้าหลักเกณฑ์ ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งกรมสรรพากร

1. ผู้จ่ายเงินได้  กฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้ในบางกรณี ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย (เมื่อจ่ายเงิน)

   - ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา  ต้องหักภาษีบางกรณี เช่น นายจ้างจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง (หากคำนวณแล้วถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี) รางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค ค่าสิทธิ ดอกเบี้ยที่จ่ายให้ผู้รับเงินที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เป็นต้น แต่โดยภาพรวมแทบจะเรียกได้ว่า บุคคลธรรมดาแทบจะไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

   - ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นนิติบุคคล  เช่น หจก. บริษัท มูลนิธิ สมาคม เป็นต้น   เมื่อจ่ายเงินได้ค่าจ้างค่าบริการ และค่าซื้อสินค้าบางประเภท ตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า อาจจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

2. ผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้  (ผู้รับเงิน)

   - ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา  ทั้งที่เป็นลูกจ้าง Freelance หรือเป็นร้านค้าที่มีลักษณะเป็นหน่วยธุรกิจ รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ และผู้รับซึ่งไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในบางกรณี

   - ผู้มีเงินได้ที่เป็นนิติบุคคล  ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล บริษัท บริษัทมหาชน มูลนิธิสมาคมที่ไม่ใช่สถานสาธารณะกุศล นิติบุคคลต่างประเทศบางกรณี ฯลฯ

หากผู้มีเงินได้ หรือผู้รับเงิน  เป็นผู้มีเงินได้ที่ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ (ด้านล่าง) ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

(ภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ล่วงหน้า ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอคืนได้เมื่อยื่นแบบฯ ประจำปี)


3. ประเภทเงินได้พึงประเมิน  เงินได้หลายประเภทถูกกำหนดให้ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างค่าบริการ

   - ค่าจ้างค่าบริการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าโฆษณา ค่าสิทธิ ค่าบริการ ค่าจ้าง ค่าวิชาชีพ ค่าจ้างเหมาก่อสร้าง ส่วนลดส่งเสริมการขาย ค่าเช่า รางวัล นักแสดง เงินปันผล ดอกเบี้ย (แต่ไม่รวมถึง ค่าบริการของโรงแรม ค่าบริการของภัตตาคาร และค่าเบี้ยประกันชีวิต) เป็นต้น 

   - ค่าซื้อสินค้า เช่น ข้าว พืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ อัญมณีที่ยังมิได้เจียระไน เป็นต้น

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) กำหนดการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประเภทเงินได้พึงประเมิน

นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้    

โดยหลักทั่วไป ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้  แต่ก็มีข้อยกเว้น ตามบทบัญญัติของกฎหมายต่าง ๆ  เช่น  นิติบุคคลอื่น ๆ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เช่น กระทรวง ทบวง กรม องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ เป็นต้น รวมถึงนิติบุคคลบางประเภทที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร 

      (1)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ 

      (2)   บริษัทจำกัดที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน 

      (3)   บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่าง ประเทศได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

      (4)   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่กำหนดในอนุสัญญา


สำหรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องคำนวณหักภาษีแต่ละประเภทเงินได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ...อัตราภาษีที่ต้องคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

 302
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์